ตร.กวดขันจับรถติดตั้งไซเรนผิด กม. ดีเดย์ 5 ม.ค.ปีหน้า ชี้โทษทั้งจำทั้งปรับ

16/12/57
โดยผู้จัดการ เมื่อ 16 ธ.ค.2557

บช.น.จัดประชุมกลุ่มบรรเทาสาธารณภัย กวดขันรถที่ติดตั้งไซเรนผิดกฎหมาย โดยจะเปิดโอกาสให้รถกู้ภัยต่างๆ ลงทะเบียน และเริ่มกวดขันจับกุมรถที่ยังไม่ละทะเบียน ในวันที่ 5 ม.ค. 58 ชี้รถที่ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. พร้อมด้วยรอง ผบก.น.1-9 รอง ผบก.จร. ศูนย์เอราวัณ มูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กำหนดแนวทางการติดสัญญาณไซเรน หรือไฟวับวาบ ว่าเบื้องต้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งกวดขันการจับกุมรถบรรเทาสาธารณภัยที่ติดตั้งไซเรนผิดกฎหมาย โดยรถฉุกเฉินของมูลนิธิต่างๆ ที่ยังไม่ได้มาลงทะเบียนให้รีบมาลงทะเบียนทันที หากพบว่ามีรถที่ยังไม่ลงทะเบียน เจ้าหน้าที่จะทำการจับกุมและยึดไซเรนดังกล่าวไว้

ส่วนการประชุมหารือในวันนี้ ได้แบ่งรถบรรเทาสาธารณภัยไว้ 3 ประเภท คือ 1. รถกู้ชีพ มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ หรือประสบอุบัติเหตุ แล้วนำส่งโรงพยาบาล 2. รถกู้ภัย มีหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือนำเครื่องมือต่างๆ เข้าช่วยเหลือ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน และ 3. รถประเภทอื่นๆ มีหน้าที่เคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิต รถดังกล่าวจะอนุญาตให้ติดตั้งไซเรนและได้รับอภิสิทธิ์ในการขับรถที่ไม่ต้องคำนึงถึงกฎจราจร เบื้องต้นรถบรรเทาสาธารณะภัยที่มาลงทะเบียนและผ่านตรวจสอบประมาณ 200 คัน ทาง บช.น.และศูนย์เอราวัณจึงจะต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อกวดขันให้รถบรรเทาสาธารณะภัยเข้ามาลงทะเบียนอย่างถูกต้อง และสามารถช่วยเหลือประชาชนได้หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ คาดว่าจะดำเนินการทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 57 นี้

พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวว่า ขณะนี้ทาง บช.น.มีมติว่าจะยังไม่ดำเนินการจับกุมรถบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ที่ติดตั้งไซเรน และยังไม่ลงทะเบียน โดยจะเปิดโอกาสให้รถกู้ภัยต่างๆ ลงทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งการลงทะเบียนในแต่ละครั้ง จะมีบัตรที่ระบุว่ารถดังกล่าวได้ลงทะเบียนและได้รับการอบรมจาก บช.น.แล้ว ทั้งนี้จะเริ่มจับกุมรถที่ยังไม่ละทะเบียนในวันที่ 5 ม.ค. 58 เป็นต้นไป หากพบเห็นรถที่ไม่มีใบอนุญาตจะดำเนินการจับปรับในอัตราโทษสูงที่สุด ซึ่งการติดตั้งสัญญาณไซเรนโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 กรณีขับรถในทางเดินรถโดยมีการใช้สัญญาณไฟวับวาบโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับ 500 บาท และยึดอุปกรณ์ไฟวับวาบ แต่หากมีการติดตั้งและเปิดสัญญาณไฟจะมีโทษปรับ 2,000-10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวต่อว่า อยากให้รถกู้ภัยต่างๆลงทะเบียนให้ถูกต้อง เพื่อที่จะพัฒนาระบบการทำงาน และช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะรถกู้ภัยต่างๆ จะต้องอุปกรณ์การประถมพยาบาลหรือมีอุปกรณ์ช่วยเหลือในเบื้องต้นอย่างครบถ้วน ซึ่งทางอาสากู้ภัยต่างๆ จะต้องผ่านการอบรมตามมาตราฐานสากล และมีการลงทะเบียนอย่างถูกต้องอีกด้วย ส่วนกรณีที่อาสาสมัครกู้ภัยตามจุดต่างๆ ใช้วิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ได้กำหนดว่าจะดำเนินการขอช่องสัญญาณวิทยุสื่อสาร 4 ช่องสัญญาณจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารสำหรับเรื่องอุบัติเหตุต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น