สนช.ผ่านร่างกฎหมายส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ได้

16/10/57
โดยผู้จัดการ เมื่อ 16 ต.ค.2557

ที่ประชุม สนช. ผ่านร่างกฎหมายจราจร 2 ฉบับ ส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ได้ “สมเจตน์” ถามใบสั่งก่อนหน้าใช้กฎหมายใดอ้างอิง “ไพบูลย์” รับต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย “มณเทียร” เสนอใช้สัญญาณจราจรทั้งแสง เสียง และการสั่นสะเทือนบนพื้นดินเหมือนเมืองนอก อีกด้านผ่านร่าง พ.ร.บ.เภสัชฯ ให้หมอฟัน สัตวแพทย์ หมอและพยาบาลสั่งจ่ายยาได้ พร้อมยกเลิกระบบใบอนุญาตประกอบอาชีพตลอดชีวิต “หมอเจตน์” หนุนเภสัชฯ ต่อทะเบียนทุกปี

วันนี้ (16 ต.ค.) ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 16/2557 โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานดำเนินการในการประชุม โดยมีการพิจารณาร่างกฎหมายในวาระแรกจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ พ.ศ. ...) 2 ฉบับ โดยมีเนื้อหาที่ระบุให้ตำรวจจราจรสามารถส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ไปยังบ้านของเจ้าของรถผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจรและกำหนดสัญญาณจราจรเพิ่มเติม โดยสามารถให้ใช้ไฟฉายเรืองแสงในการแสดงสัญลักษณ์ได้

โดยประธานในที่ประชุม ได้สั่งให้มีการรวมพิจารณาร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกัน 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การจราจรทางบก (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... โดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อกำหนดให้ตำรวจจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่พบเห็นการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก หรือกฎหมายอื่นเกี่ยวกับรถ สามารถส่งไปสั่งไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถโดยทางไปรษณีย์ตอบรับได้ เพราะเมื่อตำรวจจราจรพบการกระทำผิดของผู้ขับขี่ไม่ว่าด้วยตัวเอง หรือด้วยเครื่องอุปกรณ์ใดๆ แล้ว ไม่สามารถออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ได้ในขณะนั้น เพราะไม่สามารถสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถได้ ซึ่งส่งผลทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ และโดยที่เป็นการสมควรกำหนดมาตรการในด้านความปลอดภัยเพื่อช่วยในการให้สัญญาณจราจร และสมควรกำหนดข้อสันนิษฐานว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะที่เมาสุรา ในกรณีที่ไม่ยอมทดสอบโดยไม่มีเหตุอันควร ถือเป็นมาตรการในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากผู้ขับขี่รถขณะเมาสุรา

ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ มีสมาชิก สนช. ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เช่น พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช. ได้ระบุว่า ตนเห็นว่า การออกกฎระเบียบใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องเข้าใจทั้งฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้ปฏิบัติ ซึ่งตนมีข้อเสนอแนะว่า จะมีการอำนวยความสะดวกในการจ่ายค่าปรับของเจ้าของรถที่ได้รับใบสั่งผ่านทางไปรษณีย์อย่างไร เพราะถ้าให้มีการจ่ายค่าปรับในสถานีตำรวจ ก็จะไม่มีความสะดวก เพราะแต่ละสถานีตำรวจก็มีที่ตั้งห่างไกลกับที่อยู่ของเจ้าของรถ และตนขอถามว่า การให้ใบสั่งทางไปรษณีย์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนหน้านี้ ได้อ้างอิงกฎหมายใด เพราะถ้ามีการอ้างอิงตามกฎหมายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมาเสนอกฎหมายในลักษณะนี้

ทางด้าน นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช. ได้ระบุว่า ตนขอเสนอให้มีการใช้สัญญาณจราจรทั้งแสง เสียง และการสั่นสะเทือนบนพื้นดิน เหมือนกับหลายๆ ประเทศ เพื่อให้มีความปลอดภัยทั้งผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้ใช้รถใช้ถนน เพราะถ้าระเบียบวินัยจราจรดี ประชาชนก็มีความสุข และประเทศไทยที่เป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว ก็จะได้รับความไว้วางใจจากนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวประเทศไทย

ส่วนสมาชิกบางส่วนก็ได้อภิปรายว่า ทางตำรวจได้ใช้การสิ่งใบสั่งทางไปรษณีย์มานานพอสมควร คำถามก็คือคิดว่าประชาชนต้องปฏิบัติตามที่ส่งใบสั่งทางไปรษณีย์หรือไม่ เพราะทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจออกใบสั่งทางไปรษณีย์ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ จึงขอเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ และขอให้ชี้แจงว่าค่าปรับที่จ่ายไปนำไปใช้ทำอะไร สำนักงานกฤษฎีกาปล่อยผ่านมาได้อย่างไร ระหว่างการใช้อำนาจรัฐ การอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควรจะคำนึงถึงอะไรมากกว่ากัน

หลังจากนั้น พล.อ.ไพบูลย์ ได้ชี้แจงว่า สำหรับสงสัยของสมาชิกที่ว่า ก่อนหน้านี้ ใช้อำนาจใดในการส่งใบสั่งทางไปรษณีย์นั้น ตนขอยอมรับว่า ไม่มีกฎหมายใดรองรับให้อำนาจ ถึงต้องมีตัวร่างกฎหมายนี้ ในตอนนี้ ตนจึงต้องการทำให้ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมายังไม่ถูกต้อง ภายหลัง ที่ประชุมได้มีการลงมติเห็นชอบรับหลักการต่อร่างกฎหมายดังกล่าว 2 ฉบับ โดยร่างเนื้อหาที่ระบุให้ตำรวจจราจรสามารถส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ไปยังบ้านของเจ้าของรถผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจรมีมติเห็นด้วย 171 เสียง ไม่เห็นด้วย 8 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง

ส่วนร่างเนื้อหาที่กำหนดสัญญาณจราจรเพิ่มเติม โดยสามารถให้ใช้ไฟฉายเรืองแสงในการแสดงสัญลักษณ์ได้ มีมติเห็นด้วย 184 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณากฎหมายดังกล่าว จำนวน 15 คน โดยมีระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน และกำหนดระยะเวลาในการทำงานของ กมธ. ชุดนี้ จำนวน 30 วัน
Read more ...