โดยผู้จัดการ เมื่อ 15 พ.ค.2558
สตช.ร่วมกับ ยธ.ผุดโครงการ 1 ตำรวจ 1 โรงเรียนแก้ปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา หวังตัดกลุ่มเป้าหมายของนักค้ายาเสพติด ระบุมี 1,447 โรงพัก และ 1,000 โรงเรียนร่วมโครงการ จ่อขยายโครงการครอบคลุม 30,000 โรงเรียน
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการตำรวจประสานโรงเรียนแก่หัวหน้าส่วนราชการและผู้ปฏิบัติงานในโครงการทั่วประเทศ โดยมี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม อาทิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกรุงเทพมหานคร เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครอง กองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 และโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เข้าร่วมโครงการ เป็นต้น
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมโครงการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือโครงการตำรวจประสานโรงเรียน หรือ 1 เจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 โรงเรียน มีสถานีตำรวจภูธร 1,447 แห่ง และมีโรงเรียน 1,000 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ มีสถาบันของกระทรวงศึกษาธิการแสดงความเห็นอยากให้ขยายไปในหลายๆโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 งาน คือ งานปราบปราม การบังคับใช้กฎหมาย และการฟื้นฟู ส่วนการประชุมในครั้งนี้เป็นเรื่องของการป้องกันและการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเน้นไปยังบุคคล 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเยาวชน กลุ่มแรงงาน และกลุ่มประชาชนทั่วไป สำหรับกลุ่มเยาวชนจะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นการพัฒนาความร่วมมือการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดไปอีกขั้นหนึ่ง นอกจากนี้ ในอนาคตจะขยายการดูแลไปยังระดับอุดมศึกษา รอบสถานที่ศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด สิ่งอบายมุข การจัดระเบียบต่างๆซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
“แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะให้ความสำคัญและเน้นการทำงานในด้านนี้ คือการให้ความเข้มข้นในการจัดการ เพียงแต่ที่ผ่านมาประชาชนอาจยังไม่เห็นการบูรณาการร่วมกันที่ชัดเจน และให้ค่ากับการบังคับใช้กฎหมายการจับยาเสพติด ในความจริงแล้วการทำงานป้องกันและปราบปรามการค้ายาเสพติดต้องทำพร้อมกันทั้ง 3 ระบบ อย่างไรก็ตาม ปัญหาในการฟื้นฟูและการบำบัด รวมถึงศูนย์บำบัด วิทยากร นั้น เรากำลังเร่งจัดการ ทั้งนี้ในการจัดตั้งโครงการดังกล่าวเพื่อต้องการตัดกลุ่มเป้าหมายของนักค้ายาเสพติด เพราะถ้าเราตัดตรงส่วนนี้ได้การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจะได้ผลมากขึ้น” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
รมว.กระทรวงยุติธรรมกล่าวอีกว่า โครงการนี้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 นาย ต่อ 1 โรงเรียนเข้าไปดูแล ให้ความรู้แก่นักเรียนในสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนจะขยายโครงการให้ครบ 30,000 โรงเรียนนั้น ตนได้มีการพูดคุยกับกับฝ่ายปกครองกระทรวงมหาดไทยแล้วว่าสามารถทำได้หรือไม่ โดยในวันที่ 4 มิ.ย.นี้จะมีการประชุมร่วมกับกระทรวงแรงงาน ประชาชนทั่วไป และสถานศึกษา อาชีวะศึกษา ในเรื่องระบบการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าจะสามารถเข้าไปทำโครงการนี้ในโรงเรียนสถานศึกษาได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ โดยในระดับประถมศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดตำรวจครูแดร์เข้าไปสอนให้ความรู้เรื่องยาเสพติด และการรู้จักปฏิเสธยาเสพติดให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งนี้ จากการประสานงานระหว่างหน่วยงาน พบว่าเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาบางคน เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด บางโรงเรียนแก้ปัญหาได้เอง บางโรงเรียนก็เกินขีดความสามารถของครูที่รับผิดชอบ
“การแก้ไขปัญหายาเสพติดจำเป็นต้องดำเนินการให้ครอบคลุม ทั้งในมิติการป้องกัน ปราบปราม และการบำบัดรักษาควบคู่กันไป โดยมีรายงานว่าบางโรงเรียนครูที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังก็ถูกคุกคามจากกลุ่มผู้ค้าหรือผู้มีอิทธิพล ดังนั้น เพื่อที่จะรองรับและแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินกิจกรรมโครงการตำรวจประสานโรงเรียน 1 ตำรวจ 1 โรงเรียน โดยเริ่มดำเนินการในภาคการศึกษาที่ 1/2558 หรือตั้งแต่พฤษภาคม-สิงหาคม 2558 ในทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศแล้ว” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น